บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ

        ด้วยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้กำหนดให้มีแผนงานความทรงจำโลก (The Memory of the World Programme) ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการอนุรักษ์ และเผยแพร่หนังสือ สิ่งตีพิมพ์ รวมทั้งเอกสารการปฏิบัติงาน ซึ่งโดยมากเก็บรักษา ณ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ศาสนาสถาน สถานที่ปฏิบัติงานขององค์กรภาคเอกชน เป็นเอกสารที่ล้ำค่าในการให้ข้อมูล เรื่องราว ความคิด กระบวนการปฏิบัติงานทุกด้านของสังคม เพื่อการศึกษาและพัฒนาสำหรับคนในยุคปัจจุบันและอนาคต ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในวิถีชัวิตและวัฒนธรรมไม่เฉพาะแต่คนในชาติเท่านั้น หากยังมีประโยชน์กว้างขวางในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันที่จะนำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลก เอกสารเหล่านี้อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมได้ง่าย และบางครั้งก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรอนุรักษ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (The Thai national Committee on Memory of the World Programme of UNESCO) โดยมีอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบดังนี้

อำนาจหน้าที่

  1. กำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ และเกณฑ์มาตรฐาน ในการคัดเลือกเอกสารเพื่อเสนอองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกภูมิปัญญาแห่งโลก
  2. ประสานงานกับหน่วยราชการและองค์กรเอกชนซึ่งมีเอกสารในครอบครองเพื่อดำเนินงานเป็นเครือข่ายประเทศไทย
  3. ร่วมมือกับหน่วยราชการและองค์กรเอกชนในข้อ 2 เพื่อคัดเลือกเอกสารที่มีคุณภาพตามเกณฑ์กำหนดขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และเกณฑ์กำหนดของประเทศไทย
  4. จัดทำบัญชีเอกสารที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว เพื่อเสนอองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
  5. จัดกิจกรรมเพื่อสร้งความตระหนักในคุณค่าของเอกสาร ความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์ และเผยแพร่ให้มีการเข้าถึงอย่างกว้างขวาง
  6. ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศและคณะกรรมการระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
  7. แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจตามความจำเป็น
  8. ดำเนินการอื่นใดที่สองคล้องกับแผนงานนี้